
ออนไลน์ | 5 คน |
วันนี้ | 53 คน |
เมื่อวานนี้ | 48 คน |
เดือนนี้ | 870 คน |
เดือนที่ผ่านมา | 1,375 คน |
ทั้งหมด | 294,306 คน |
เริ่มนับ 13 สิงหาคม 2558 |

ข้อบังคับ สมาคมปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พ.ศ. ๒๕๕๕
....................................................................................
หมวดที่ ๑
ความทั่วไป
ข้อที่ ๑ สมาคมนี้มีชื่อว่า สมาคมปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีชื่อย่อว่า สปตน.
ชื่อภาษาอังกฤษว่า The Association Of Secretary Of Community Northeast
ใช้อักษรย่อว่า ASCN
ข้อที่ ๒ ตราเครื่องหมายของสมาคม มีลักษณะเป็น
1.1กระติ๊บข้าว หมายถึง สมาคมปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีความสามัคคีกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่มีความเหนียวแน่นเหมือนข้าวเหนียวปั้น
1.2.แคน หมายถึง เครื่องดนตรีพื้นบ้านของชาวบ้านภาคอีสานชนิดหนึ่งที่สร้างชื่อเสียง ด้วยพลังการเป่าของคนที่พริ้วอ่อนไหว เยือกเย็น อ่อนหวานดัวยลู่ลม เปรียบเสมือนปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่แต่แฝงไปด้วยความสามารถ ความยึดมั่นจริงจัง พร้อมเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นใจ
1.3.ต้นข้าว หมายถึง การรวมตัวกันของปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังเบ่งบาน พร้อมให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน
1.4.แพรแถบสีเหลืองรองรับชื่อ สมาคมปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตัวหนังสือสีน้ำเงิน หมายถึง การจะนำมาซึ่งความผาสุข
ความอุดมสมบูรณ์ ความร่มเย็น มาสู่สมาคมปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ข้อที่ ๓ สำนักงานของสมาคม ตั้งอยู่ ณ ๑๔ หมู่ที่ ๘ ตำบลโพนเมืองน้อย อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ
ข้อที่ ๔ วัตถุประสงค์ของสมาคม เพื่อ
๔.๑ เป็นองค์กรกลางในการสื่อสารสัมพันธ์และช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันในหมู่ข้าราชการพนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
๔.๒ เป็นองค์กรกลางในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในหมู่คณะ และบุคคลที่ได้เชิญเข้าร่วมกิจกรรม ดังนี้
(๑) ด้านวิชาการ
(๒) ด้านการส่งเสริมและพัฒนาทักษะความรู้ ความสามารถและศักยภาพ
(๓) ด้านการส่งเสริมและพัฒนาการบริหารจัดการ การปฏิบัติงานทั่วไปและธรรมาภิบาล
(๔) ด้านส่งเสริมและพัฒนาระบบคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณในกระบวนการบริหารงานบุคคล
(๕) ด้านการส่งเสริมและพัฒนาสุขภาวะกายและใจ และสวัสดิภาพความปลอดภัย
(๖) ด้านการส่งเสริมและพัฒนาสวัสดิการ
(๗) ด้านอื่น ๆ ที่คณะกรรมการสมาคมพิจารณาเห็นว่าเหมาะสม เป็นประโยชน์ต่อสมาชิก
๔.๓ เป็นองค์กรในการพัฒนาบุคลากร สร้างมาตรฐานการทำงาน และส่งเสริมขวัญกำลังใจ
๔.๔ เป็นองค์กรจัดกิจกรรมด้านการกุศล การสงเคราะห์หรือสร้างสรรค์สังคมเพื่อการมีส่วนร่วมที่ต้องธำรงไว้ซึ่ง ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
๔.๕ เพื่อดำเนินการ หรือร่วมมือกับองค์การกุศล เพื่อการกุศลและองค์การสาธารณประโยชน์เพื่อสาธารณประโยชน์
๔.๖ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด
หมวดที่ ๒
สมาชิก
ข้อที่ ๕ สมาชิกของสมาคมมี ๒ ประเภท คือ
๕.๑ สมาชิกสามัญ ได้แก่
(๑) ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
(๒) ผู้เริ่มการขอจัดตั้งสมาคม
๕.๒ สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีอุปการคุณแก่สมาคมซึ่งคณะกรรมการลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม
ข้อที่ ๖ สมาชิกจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
๖.๑ เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ
๖.๒ เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
๖.๓ ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
๖.๔ ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาท หรือลหุโทษ การต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดในกรณีดังกล่าว จะต้องเป็นไปขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือใน ระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น
ข้อที่ ๗ ค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคม
๗.๑ สมาชิกสามัญ จะต้องเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้า ๑๐๐ บาท ค่าบำรุงสมาคมเป็นรายปี ๆ ละ ๑๐๐ บาท
๗.๒ สมาชิกกิตติมศักดิ์ มิต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมแต่อย่าใดทั้งสิ้น
ข้อที่ ๘ การสมัครเป็นสมาชิกของสมาคม
ให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมต่อนายทะเบียนสมาคม และให้นายทะเบียนสมาคมติดประกาศรายชื่อผู้สมัครไว้ ณ สำนักงานของสมาคม เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๗ วัน เพื่อให้สมาชิกอื่นๆ ของสมาคมจะได้คัดค้านการสมัครนั้น เมื่อครบกำหนดประกาศแล้ว ก็ให้นายทะเบียนสาคมนำใบสมัคร และหนังสือคัดค้านของสมาชิก (ถ้ามี) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติว่า จะรับหรือไม่รับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาการสมัครแล้วผลเป็นประการใดให้นายทะเบียนสมาคมเป็นผู้แจ้งให้ผู้สมัครทราบโดยเร็ว
ข้อที่ ๙ ถ้าคณะกรรมการบริหารพิจารณาอนุมัติให้รับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก
ให้ผู้สมัครนั้นชำระเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าบำรุงสมาคมให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียนสมาคมและสมาชิกภาพของผู้สมัครให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าบำรุงสมาคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าผู้สมัครไม่ชำระเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าบำรุงสมาคมภายในกำหนด ก็ให้ถือว่าการสมัครคราวนั้นเป็นอันยกเลิก
ข้อที่ ๑๐ สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่มีหนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่คณะกรรมการ
ได้พิจารณาลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ได้มาถึงยังสมาคม
ข้อที่ ๑๑ สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้
๑๑.๑ ตาย
๑๑.๒ ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการได้พิจารณา อนุมัติ และสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้สินที่ยังติดค้างอยู่กับสมาคมเป็นที่เรียบร้อย
๑๑.๓ ขาดคุณสมบัติสมาชิก ไม่ได้เป็นปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
๑๑.๔ ที่ประชุมใหญ่ของสมาคมหรือคณะกรรมการบริหารได้พิจารณาลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียนเพราะสมาชิกผู้นั้นได้ประพฤตินำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม
ข้อที่ ๑๒ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
๑๒.๑ มีสิทธิเข้าใช้สถานที่ของสมาคมโดยเท่าเทียมกัน
๑๒.๒ มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการ
๑๒.๓ มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ที่สมาคมได้จัดมีขึ้น
๑๒.๔ มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม
๑๒.๕ สมาชิกสามัญมีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งเป็นกรรมการสมาคมและมีสิทธิออกเสียงลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมได้คนละ ๑ คะแนนเสียง
๑๒.๖ มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคม
๑๒.๗ มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย ๑ ใน ๓ ของสมาชิกสามัญทั้งหมด ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้
๑๒.๘ มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ และข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด
๑๒.๙ มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกสมาคม
๑๒.๑๐ มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของสมาคม
๑๒.๑๑ มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
๑๒.๑๒ มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
หมวดที่ ๓
การดำเนินงานกิจกรรม
ข้อที่ ๑๓ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ทำหน้าที่บริหารกิจการสมาคม
ประกอบด้วย นายกสมาคมคนหนึ่ง และกรรมการสมาคมอีกจำนวนอย่างน้อย ๑๑ คน อย่างมากไม่เกิน ๓๙ คน คณะกรรมการนี้ต้องเป็นสมาชิกสามัญและให้ที่ประชุมใหญ่เลือกคนหนึ่งเป็นนายกสมาคม และให้นายกสมาคมคัดเลือก อุปนายก เลขาธิการคนหนึ่ง เหรัญญิกคนหนึ่ง ประชาสัมพันธ์คนหนึ่ง ปฏิคมคนหนึ่ง นายทะเบียนคนหนึ่ง วิชาการคนหนึ่ง และตำแหน่งอื่นๆ ที่เห็นว่าเหมาะสม ซึ่งตำแหน่งของคณะกรรมการสมาคมมีตำแหน่งและหน้าที่โดยสังเขป ดังต่อไปนี้
๑๓.๑ นายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคม เป็นผู้แทนสมาคม ในการติดต่อกับบุคคลภายนอกและทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ และการประชุมใหญ่ของสมาคม
๑๓.๒ อุปนายก ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารจัดการสมาคม ปฏิบัติตามหน้าที่ที่นายกสมาคมได้มอบหมายและทำหน้าที่แทนนายกสมาคม เมื่อนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การทำหน้าที่แทนนายกสมาคม ให้อุปนายกตามลำดับที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้กระทำการแทน
๑๓.๓ เลขาธิการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมด เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของสมาคมในการปฏิบัติกิจการของสมาคม และปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคมตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการ ในการประชุมต่าง ๆ ของสมาคม
๑๓.๔ เหรัญญิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคม เป็นผู้จัดทำบัญชี รายรับ รายจ่าย บัญชีงบดุล ของสมาคม และเรียกเก็บเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของสมาคมไว้เพื่อตรวจสอบ
๑๓.๕ ปฏิคม มีหน้าที่ในการต้อนรับแขกของสมาคม เป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ของสมาคม และจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่าง ๆ ของสมาคม
๑๓.๖ นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคม ประสานงานกับเหรัญญิกในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก
๑๓.๗ ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิกและบุคคลโดยทั่วไปให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
๑๓.๘ วิชาการ มีหน้าที่ศึกษาค้นคว้าวิจัย วิเคราะห์ เกี่ยวกับการดำเนินงานของสมาคม การจัดทำร่างระเบียบ หลักเกณฑ์ของสมาคม การจัดเอกสารเกี่ยวกับวิชาการของสมาคมเพื่อทำการเผยแพร่
๑๓.๙ กรรมการตำแหน่งอื่น ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควรกำหนดให้มีขึ้นโดยมีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการตามข้างต้นแล้วจะต้องไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้ แต่ถ้าคณะกรรมการมิได้กำหนดตำแหน่งก็ถือว่าเป็นกรรมการกลาง คณะกรรมการชุดแรก ให้ผู้เริ่มการจัดตั้งสมาคมเป็นผู้เลือก ประกอบด้วย นายกสมาคม และให้นายกสมาคมคัดเลือกกรรมการอื่นๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับของสมาคม
ข้อที่ ๑๔ คณะกรรมการของสมาคมสามารถอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ ๒ ปี
และเมื่อคณะกรรมการอยู่ในตำแหน่งครบกำหนดตามวาระแล้ว แต่คณะกรรมการชุดใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ ก็ให้กรรมการที่ครบกำหนดตามวาระรักษาการไปพลางก่อน จนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ และเมื่อคณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการส่งมอบงานระหว่างคณะกรรมการชุดเก่า และคณะกรรมการชุดใหม่ให้เป็นที่เสร็จสิ้นภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ
ข้อที่ ๑๕ ตำแหน่งกรรมการสมาคม ถ้าต้องว่างก่อนครบกำหนดตามวาระก็ให้คณะกรรมการแต่งตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งที่ว่างลงนั้น แต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น และถ้าเป็นตำแหน่งนายกสมาคมว่างก็ให้กรรมการเลือกกันเองเป็นนายกสมาคม
ข้อที่ ๑๖ กรรมการอาจพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุดังต่อไปนี้ คือ
๑๖.๑ ตาย
๑๖.๒ ลาออก
๑๖.๓ ขาดจากสมาชิกภาพตามข้อบังคับและตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้
๑๖.๔ ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง
๑๖.๕ เป็นผู้มีความประพฤติและปฏิบัติตนเป็นที่เสื่อมเสียและคณะกรรมการสมาคมมีมติให้ออก โดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของคณะกรรมการของสมาคม
ข้อที่ ๑๗ กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อนายกสมาคมและให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการมีมติให้ออก
ข้อที่ ๑๘ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
๑๘.๑ มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ หรือเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ โดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้
๑๘.๒ มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม
๑๘.๓ มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง
๑๘.๔ มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ
๑๘.๕ มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
๑๘.๖ มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตลอดจนมีอำนาจอื่น ๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
๑๘.๗ มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงิน และทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม
๑๘.๘ มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกสามัญจำนวน ๑ ใน ๓ ของสมาชิกทั้งหมด ได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น ซึ่งการนี้จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ
๑๘.๙ มีหน้าที่ทำเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้ เมื่อสมาชิกร้องขอ
๑๘.๑๐ จัดทำบันทึกการประชุมต่าง ๆ ของสมาคม เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและจัดส่งให้สมาชิกได้รับทราบ
๑๘.๑๑ มีหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
ข้อที่ ๑๙ คณะกรรมการจะต้องประชุมกันอย่างน้อยปีละ ๓ ครั้ง ทั้งนี้เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคม
ข้อที่ ๒๐ การประชุมคณะกรรมการ จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ของกรรมการทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
ข้อที่ ๒๑ ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้กรรมการที่เข้าประชุมในครั้งนั้นเลือกกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น
หมวดที่ ๔
การประชุมใหญ่
ข้อที่ ๒๒ การประชุมใหญ่ของสมาคมมี ๒ ประเภท คือ
๒๒.๑ ประชุมใหญ่สามัญ
๒๒.๒ ประชุมใหญ่วิสามัญ
ข้อที่ ๒๓ คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๆ ละ ๑ ครั้ง ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวัน นับแต่วันถัดจากวันสิ้นปีปฏิทิน
ข้อที่ ๒๔ การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นควรจัดให้มีขึ้น หรือเกิดขึ้นจากการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิกไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของสมาชิกสามัญทั้งหมด หรือสมาชิกสามัญจำนวนไม่น้อย
กว่าหนึ่งร้อยคน หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการของสมาคมให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญก็ได้ ในหนังสือร้องขอนั้นต้องระบุว่าประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อการใด
เมื่อคณะกรรมการของสมาคมได้รับหนังสือร้องขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญตามวรรคแรก ให้คณะกรรมการของสมาคมเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับ
คำขอ ถ้าคณะกรรมการของสมาคมไม่เรียกประชุมภายในระยะเวลาตามวรรคสองสมาชิกที่เป็นผู้ร้องขอให้เรียกประชุมหรือสมาชิกอื่นรวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนสมาชิกที่กำหนดตามวรรคแรกจะเรียกประชุมเองก็ได้
ข้อที่ ๒๕ การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้เลขาธิการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้ทราบและการแจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุวัน เวลา และสถานที่ให้ชัดเจน โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๗ วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๗ วัน ก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่ หรือใช้วิธีหนึ่งวิธีใดหรือหลายวิธีดังต่อไปนี้ เพื่อให้สมาชิกรับทราบคือ
(ก) ประชาสัมพันธ์ทางสื่อวิทยุ
(ข) ประชาสัมพันธ์ทางสื่อโทรทัศน์
(ค) ประชาสัมพันธ์ทางสื่อหนังสือพิมพ์
(ง) ประชาสัมพันธ์ทางสื่อไปรษณีย์อิเลคทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ตหรือเว็บไซด์ของสมาคม
ข้อที่ ๒๖ การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้
๒๖.๑ แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี
๒๖.๒ แถลงบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกรับทราบ
๒๖.๓ การเลือกคณะกรรมการบริหาร เมื่อครบกำหนดวาระ
๒๖.๔ การเลือกผู้สอบบัญชี
๒๖.๕ เรื่องอื่น ๆ ถ้ามี
ข้อที่ ๒๗ การประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญจะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุม
ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุมหากถึงกำหนดเวลานัดการประชุมแล้วสมาชิกสามัญมาไม่ครบองค์ประชุม ถ้าการประชุมใหญ่ครั้งนั้นเป็นการประชุมใหญ่ตามคำเรียกร้องของสมาชิกก็ให้งดประชุม ก็ให้เรียกประชุมใหญ่อีกครั้ง โดยครั้งหลังให้มีการประชุมขึ้นภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก การประชุมครั้งหลังนี้ไม่บังคับว่าจะต้องครบองค์ประชุม
ข้อที่ ๒๘ การลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมใหญ่ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก เป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
ข้อที่ ๒๙ ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ถ้านายกสมาคม และอุปนายกสมาคมไม่มาร่วมประชุม หรือไม่สามารถ จะปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกกรรมการที่มาประชุมคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในการประชุมคราวนั้น
หมวดที่ ๕
การเงินและทรัพย์สิน
ข้อที่ ๓๐ การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เงินสดของสมาคมถ้ามีให้นำ ฝากไว้ในธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐบาล
ข้อที่ ๓๑ การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคม จะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคมหรือผู้ทำการแทน ลงนามร่วมกับเหรัญญิก หรือเลขาธิการ พร้อมกับประทับตราของสมาคม จึงจะถือว่าใช้ได้
ข้อที่ ๓๒ ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ
ข้อที่ ๓๓ ให้เหรัญญิก มีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมได้ไม่เกิน ๕๐,๐๐๐บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกิน กว่าจำนวนนี้ จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันทีที่โอกาสอำนวยให้
ข้อที่ ๓๔ เหรัญญิก จะต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุล ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรับหรือ จ่ายเงินทุกครั้ง จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของนายกสมาคม หรือผู้ทำการแทนร่วมกับเหรัญญิก
หรือผู้ทำการแทน พร้อมกับประทับตราของสมาคมทุกครั้ง
ข้อที่ ๓๕ ผู้สอบบัญชีจะต้องมิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต
ข้อที่ ๓๖ ผู้สอบบัญชี มีอำนาจหน้าที่เรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการและสามารถจะเชิญกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมเพื่อสอบถามเกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้
ข้อที่ ๓๗ คณะกรรมการจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชี เมื่อได้รับการร้องขอ
หมวดที่ ๖
การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม
ข้อที่ ๓๘ ข้อบังคับของสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น และองค์ประชุมใหญ่จะต้อง มีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด มติของที่ประชุมใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด
ข้อที่ ๓๙ การเลิกสมาคมจะเลิกได้ก็โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของ
กฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่ที่เลิกสมาคมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วม
ประชุมทั้งหมด และองค์ประชุมใหญ่จะต้องไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด
ข้อที่ ๔๐ เมื่อสมาคมต้องเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ตกเป็นของ มูลนิธิชัยพัฒนา
หมวดที่ ๗
บทเบ็ดเตล็ด
ข้อที่ ๔๑ การตีความข้อบังคับของสมาคม หากเป็นที่สงสัยให้ที่ประชุมใหญ่โดยเสียงข้างมากของที่ประชุมชี้ขาด
หมวดที่ ๘
บทเฉพาะกาล
ข้อที่ ๔๒ ข้อบังคับฉบับนี้ ให้เริ่มใช้บังคับได้นับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นต้นไป
ข้อที่ ๔๓ เมื่อสมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากทางราชการ ก็ให้ถือว่าผู้เริ่มการ เข้าประชุมหรือผู้เขาร่วมประชุมจัดตั้งสมาคมปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด และเป็นสมาชิกสามัญ ณ วันที่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เป็นต้นไป
(ลงชื่อ) นายจีราวุฒิ เข็มพรมม ผู้จัดทำข้อบังคับ
( นายจีราวุฒิ เข็มพรมมา )